ไข้เลือดออก เป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทยที่พบได้ทุกปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และมีสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคพบว่าจำนวนผู้ป่วยในปี 2566 มากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล ทำให้เราควรจะตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ เพราะแม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยและผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรงแต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการรุนแรงจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ศูนย์วัคซีนและเวชศาสตร์การเดินทาง โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ความรู้ว่า “โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า เชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus; DENV) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Dengue 1 (DEN1), Dengue 2 (DEN2), Dengue 3 (DEN3), และ Dengue 4 (DEN4) ซึ่งหากมีการติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว ร่างกายจะมีภูมิกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ และป่วยเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้ง หากมีการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นอีกภายหลัง ซึ่งความรุนแรงของอาการป่วยมีความแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ที่มีการติดเชื้อ ความแข็งแรงและสุขภาพร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ ทั้งนี้สามารถพบการติดเชื้อและป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็ก พบมากที่สุดจะช่วงอายุ 5-14 ปี ไปจนถึงผู้สูงอายุและในช่วง 20 ปีหลังมานี้แนวโน้มการติดเชื้อไข้เลือดออกในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มีมากขึ้นและอันตรายมากขึ้น”
ในขณะที่กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคติดต่อที่มีการระบาดในไทยปี 2566 ที่ผ่านมา โดยจากสถิติ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 13 ธ.ค. 2566 พบมีการระบาดและมีผู้ป่วย โรคไข้เลือดออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รวม 147,412 ราย อัตราป่วย 222.91 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า กระจายทั่วประเทศ และพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ รวม 174 รายจาก 57 จังหวัด อัตราป่วยตาย 0.12 % โดยอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและภาวะ
อ้วน ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้เสียชีวิตพบไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยพบ DENV-2 มากที่สุด รองลงมา คือ DENV-1 DENV-3 และ DENV-4 ตามลำดับ
คนเราสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้งในสายพันธุ์ที่ต่างจากครั้งแรก
พญ.จิตรฟ้า อธิบายต่อไปว่า “ประเทศไทยพบการระบาดทั้ง 4 สายพันธุ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะหมุนเวียนสลับกันไปแล้วแต่ช่วงเวลา แต่สายพันธุ์ที่ 1 และ 2 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด การติดเชื้อครั้งแรกส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่การติดเชื้อครั้งที่สองที่เป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์ที่ต่างไปจากการติดเชื้อครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น
โดยอาการของไข้เลือดออกในช่วงเริ่มต้นมักจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงเกิน 38.5 องศา , ปวดศีรษะ , ปวดกระบอกตา , ปวดเมื่อยตัว , คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีจุดเลือดออกตามแขน ขา ลำตัว ผู้ป่วยบางรายมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ซึ่งอาการของไข้เลือดออกในวันที่ 3-7 ของการป่วย อาจมีอาการรุนแรง ขึ้นขั้นเลือดออกผิดปกติรุนแรง เกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้”
แม้การป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด รวมถึงการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณรอบบ้าน การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกและลดความรุนแรงของโรคได้ และในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อเดงกี(dengue virus; DENV)ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์
วัคซีนชนิดแรก (Dengvaxia®) เริ่มมีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ป้องกันสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 ได้ดี แต่ป้องกันสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 ได้ปานกลาง มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออก 65% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 80% โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6 เดือน สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี ที่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น เนื่องจากพบว่าหากฉีดในคนที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น
วัคซีนไข้เลือดออกชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใหม่ (QDenga®) มีการใช้แล้วใน 16 ประเทศทั่วโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้ในประเทศไทยได้ในปี 2566 เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 ได้ดีซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากและเป็นส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยฉีดจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 3 เดือน
- สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 4-60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน และไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจภูมิคุ้มกันไข้เลือดออกก่อนได้รับวัคซีน
- มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกโดยรวมได้ 80%
- ป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ถึง 90%
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย