PR News » กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สปสช. เร่งผลักดันการดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรคในประเทศไทย “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” ด้วยการตรวจคัดกรองวัณโรคกลุ่มเสี่ยงสูงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สปสช. เร่งผลักดันการดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรคในประเทศไทย “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” ด้วยการตรวจคัดกรองวัณโรคกลุ่มเสี่ยงสูงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

27 มกราคม 2021
940   0

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งผลักดัน  การดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรคในประเทศไทย ด้วยการตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงสูงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่า    จะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีเป้าหมายลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่เหลือ 10 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2578 ด้วยกลยุทธ์ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” นำไปสู่เมืองไทยปลอดวัณโรค

วันนี้ (27 มกราคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันวัณโรค  ยังเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย จากรายงานวัณโรคของโลกปี 2563          (Global Tuberculosis Report 2020) ขององค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทยมีอัตราป่วยวัณโรครายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 1.15 เท่า และมีผู้ป่วยที่ถูกตรวจพบและรายงาน (ร้อยละ 84) ของที่คาดประมาณเท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงการที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง เข้าไม่ถึงการรักษาหรือเข้าถึงล่าช้า ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปในชุมชน พบอัตราป่วยวัณโรค ในประเทศไทยลดลงเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี ดังนั้นในปี 2557 องค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดให้การควบคุมและป้องกัน วัณโรคเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ตามองค์การอนามัยโลก(WHO) และแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ให้บรรลุเป้าหมายลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ให้เหลือ 10 ราย ต่อประชากรแสนคนในปี 2578

            กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์       ในการตรวจคัดกรองวัณโรคด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (CXR) และตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยวิธีอณูชีววิทยา (Molecular assay) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. ผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอด 2. ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้อาศัยในสถานคุ้มครอง และพัฒนาคนพิการหรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 4. ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง อาทิ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือได้รับ  ยากดภูมิคุ้มกัน 5. ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคเบาหวานร่วมด้วย       6. ผู้ใช้สารเสพติด ติดสุราเรื้อรัง และ 7. บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของการคัดกรองวัณโรค    ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ลดปัญหาการแพร่ระบาดวัณโรค และสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัณโรค    ในประเทศไทย โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 นี้

            นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้อัตราอุบัติการณ์วัณโรคของประเทศไทยลดลงจาก 171 ราย ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ให้เหลือ           10 ราย ต่อประชากรแสนคนภายในปี 2578 มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้เข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุดตลอดจนดูแลรักษาให้หายจากวัณโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง ส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรค แต่การลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ลงจะทำได้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติวัณโรคเพื่อให้เมืองไทยปลอดวัณโรค สอบถามเพิ่มเติมได้ที่      สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422