PR News » อิเกีย ยกเลิกการจำหน่ายแบตเตอรีอัลคาไลน์แบบชาร์จไฟไม่ได้ ภายในเดือนตุลาคม ปี 2564 สร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนได้ในทุกๆ วันที่บ้าน

อิเกีย ยกเลิกการจำหน่ายแบตเตอรีอัลคาไลน์แบบชาร์จไฟไม่ได้ ภายในเดือนตุลาคม ปี 2564 สร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนได้ในทุกๆ วันที่บ้าน

1 ตุลาคม 2020
496   0

อิเกีย ก้าวต่อไปอีกขั้นในการมุ่งมั่นสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและยั่งยืนยิ่งขึ้นในทุกๆ วันที่บ้าน ด้วยการยกเลิกการจำหน่ายแบตเตอรีอัลคาไลน์แบบชาร์จไฟไม่ได้ในสโตร์อิเกียทั่วโลกภายในเดือนตุลาคม ปี 2564 มุ่งหวังให้ลูกค้าที่ใช้ แบตเตอรีอัลคาไลน์แบบชาร์จไฟไม่ได้อยู่เป็นประจำ หันมาใช้แบตเตอรีแบบชาร์จไฟได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวและยังช่วยลดปริมาณขยะให้กับโลกอีกด้วย

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่งกับการยกเลิกการจำหน่ายแบตเตอรีอัลคาไลน์แบบชาร์จไฟไม่ได้ รุ่น ALKALISK/อัลกาลิสค์ ที่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสโตร์อิเกียทั่วโลก พร้อมๆ กับการหันมาส่งเสริมการใช้แบตเตอรีแบบชาร์จไฟได้ให้มากขึ้น” ลาร์ช สเวนสัน ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก กล่าว “เราหวังว่า นี่จะเป็นก้าวที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนมาเลือกใช้แบตเตอรีแบบชาร์จไฟได้ ซึ่งมีราคาสบายกระเป๋า ใช้งานง่าย สามารถยืดอายุการใช้งานทั้งผลิตภัณฑ์และวัสดุ และยังช่วยลดปริมาณขยะ รวมถึงประหยัดกว่าแทน”

แบตเตอรีแบบชาร์จไฟได้ รุ่น LADDA/ลัดด้า ของอิเกีย สามารถชาร์จไฟได้สูงสุดถึง 500 ครั้ง และเป็นแบตเตอรี NiMH จากการวิจัยเชิงเปรียบเทียบเพื่อประเมินวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรี NiMH แบบชาร์จไฟได้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเทียบกับแบตเตอรี อัลคาไลน์ เมื่อใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปซึ่งใช้พลังงานสูงและต้องชาร์จไฟอย่างสม่ำเสมอ เช่น ของเล่น ไฟฉาย ลำโพงหรือกล้องถ่ายรูปแบบพกพา เป็นต้น1 

แบตเตอรี NiHM แบบชาร์จไฟได้ อย่างรุ่น LADDA/ลัดด้า ที่จำหน่ายในสโตร์อิเกียนั้น พบว่าเมื่อชาร์จไฟไปแล้ว 10 ครั้ง จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยกว่าแบตเตอรีอัลคาไลน์เมื่อใช้พลังงานเท่ากัน และหลังจากที่ชาร์จไป 50 ครั้ง จึงได้ข้อสรุปว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม2  ของแบตเตอรีชนิด NiMH มีน้อยกว่าหรือเท่ากับผลกระทบที่เกิดจากการใช้แบตเตอรีอัลคาไลน์3 

“นี่จะเป็นทางเลือกที่ประหยัดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าในระยะยาว เมื่อเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและหันมาใช้แบตเตอรีแบบชาร์จไฟได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยความคุ้มค่าสูงสุด” ลาร์ช สเวนสัน กล่าว ก่อนเสริมต่อว่า “ทั้งยังช่วยลดการสร้างขยะด้วย”

ปีที่แล้ว อิเกีย จำหน่ายแบตเตอรีอัลคาไลน์ไปทั้งหมด 300 ล้านชิ้นทั่วโลก เฉพาะสโตร์อิเกียทั้ง 9 แห่งที่เปิดให้บริการในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ลูกค้าซื้อแบตเตอรีแบบชาร์จไฟไม่ได้ รุ่น ALKALISK/อัลกาลิสค์ ไปกว่า 3.4 ล้านห่อ หากลูกค้าอิเกียทุกคนเปลี่ยนจากแบตเตอรีแบบชาร์จไฟไม่ได้ รุ่น ALKALISK/อัลกาลิสค์ มาใช้แบตเตอรีชาร์จไฟได้ รุ่น LADDA/ลัดด้า สำหรับอุปกรณ์กินไฟสูง (และชาร์จไฟใช้ประมาณ 50 ครั้ง) การร่วมด้วยช่วยกันเปลี่ยนคนละเล็กน้อยเพียงแค่นี้ จะสามารถลดขยะโลกไปได้กว่า 5,000 ตันต่อปี4 

ในที่สุด ผู้คนจะค่อยๆ ลด ละ และเลิกใช้แบตเตอรี รุ่น ALKALISK/อัลกาลิสค์ ซึ่งจะส่งผลให้ แบตเตอรีรุ่นดังกล่าวค่อยๆ หายไปจากสโตร์เช่นกัน ซัพพลายเออร์จะอาศัยช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ปรับตัวรับพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน สโตร์อิเกียแต่ละแห่งก็จะมีเวลาเพียงพอให้จำหน่ายสินค้าคงคลังที่มีอยู่ กระบวนการยกเลิกการจำหน่ายแบตเตอรี รุ่น ALKALISK/อัลกาลิสค์ จะจบสมบูรณ์พร้อมกันทั่วโลกภายในเดือนตุลาคม ปี 2564 ส่วนแบตเตอรีลิเธียมไอออน รุ่น PLATTBOJ/พลัทบอย จะยังคงอยู่ในรายการสินค้าของอิเกียต่อไป เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชิ้นยังต้องใช้แบตเตอรีชนิดนี้เพื่อการใช้งาน

——————————————————————————————————————–

1 Comparative Life cycle analysis of alkaline batteries against rechargeable NiMH batteries. Dolci et al., 2016; Mahmud, 2019; Parsons, 2007, and Menet and Gruescu, 2013.

2 Climate change, acidification, eutrophication (terrestrial, freshwater, and marine), freshwater ecotoxicity, human toxicity (cancer effects and noncancer effects), particulate matter, water resource depletion, and mineral and fossil resource depletion).

3 Comparative Life cycle analysis of alkaline batteries against rechargeable NiMH batteries. Dolci et al., 2016; Mahmud, 2019; Parsons, 2007, and and Gruescu, 2013.

4 Calculations are based on the comparative LCA studies listed in footnote 1, extrapolated to LADDA and ALKALISK batteries, based on FY19 sales figures of LADDA and assuming all LADDA batteries are charged 50 times according to IEC 61951-2 Ed.3 (2011) standards and in high-drain devices.